ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย แถลงสรุปผล “ โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ ”

Avatar admin
โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ เต็ม

กรมการขนส่งทางบก ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ภายใต้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ร่วมกับ ยามาฮ่า และ ฮอนด้า ร่วมกันแถลงเกี่ยวกับสรุปผล “โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” จาก 1,000 กรณีศึกษา พบสาเหตุหลักเกิดจากความผิดพลาดในการประเมินสถานการณ์ก่อนการเกิดอุบัติเหตุ

โดย มร.ทัตสึยะ โนซากิ ประธานกรรมการบริหาร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด เผยว่า วัตถุประสงค์เพื่อหวังผนึกกำลังสานต่อเพื่อร่วมลดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน เพื่อให้ผลการวิจัยจากโครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุขยายประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

จากผลการวิจัยได้ข้อสรุปในหลากหลายประเด็น อาทิ อุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อความเร็วมากกว่า 80กม./ชม. โดยการขับขี่ตั้งแต่ 20 กม./ชม. เปรียบเทียความเร็วในการเดินทางตามช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ กลางคืน 19.01-07.00 น. มีความรุนแรง และเสียชีวิตสูงกว่าในความเร็วเท่ากัน ในช่วงเวลากลางวัน 07.01-19.00 น. เนื่องจากช่่วงกลางคืนจะมีพฤติกรรมไม่หลีกเลี่ยงการชน, พฤติกรรมเสี่ยง(เมาสุรา), ฝ่าฝืนกฎจราจร, ชนท้ายรถบรรทุกขนาดใหญ่ ขณะที่ลักษณะของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ยังบ่งชี้ว่า อุบัติเหตุทั้งหมด เรียนจากคนในครอบครัว/เพื่อน 57%, ฝึกด้วยตนเอง 32%, ไม่ทราบ 9% และ เรียนจากาถบันอบรมการขับขี่โดยเฉพาะ 1% สำหรับ อัตราการเสียชีวิตที่มากที่สุดอยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี ฯลฯ

โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ chart

ปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสี่ด้านและข้อเสนอแนะโดย TARC โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ

โดย รศ.ดร.กัณวีร์ ได้แถลงสรุปผลปัจจัยสำคัญในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสี่ด้านหลัก ได้แก่ ด้านผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และรถยนต์ ด้านทักษะและประสบการณ์ในการขับขี่ ด้านรูปแบบการเกิดอุบัติเหตุ และด้านสภาพถนนและสิ่งแวดล้อม พร้อมข้อเสนอแนะ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • ขอบเขตการวิจัย “โครงการเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ”
  • ด้วยสถานการณ์อุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยมีอัตราที่สูง การวิจัยครั้งนี้จึงมุ่งเน้นสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์จำนวน 1,000 กรณีศึกษา โดย 30% ของจำนวนนี้เป็นอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต

    1. ด้านผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และรถยนต์

    จากอุบัติเหตุทั้งหมด 1,000 กรณี พบว่าร้อยละ 53 มีสาเหตุเกิดจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ รองลงมาร้อยละ 41 เกิดจากผู้ขับขี่รถยนต์ ตามด้วยสาเหตุจากสภาพถนนและสิ่งแวดล้อมจำนวนร้อยละ 4 และสาเหตุอื่นๆ จำนวนร้อยละ 2

    ในกลุ่มอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 49 เกิดจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด (Perception Failure) รองลงมาร้อยละ 32 เกิดจากผู้ขับขี่ตัดสินใจผิดพลาดขณะเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน (Decision Failure) และร้อยละ 13 เกิดจากผู้ขับขี่ควบคุมรถผิดพลาด (Reaction Failure)

    ในกลุ่มอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากผู้ขับขี่รถยนต์ ร้อยละ 60 เกิดจากผู้ขับขี่รถยนต์ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด (Perception Failure) และร้อยละ 34 เกิดจากการตัดสินใจผิดพลาดเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉิน (Decision Failure)

    2. ด้านทักษะและประสบการณ์ในการขับขี่

    จากอุบัติเหตุทั้งหมด 1,000 กรณี พบว่าร้อยละ 48 เป็นการชนที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ได้หลบหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการชนแต่อย่างใด (Collision Avoidance) ซึ่งผู้ขับขี่ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพปกติไม่ได้ง่วงหรือเมาสุรา และขับขี่ด้วยความเร็วปกติ ระหว่าง 20-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

    การวิจัยยังพบว่าร้อยละ 41 ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ และในอุบัติเหตุที่เกิดกับผู้มีใบอนุญาตขับขี่ กว่าครี่งหนึ่งเป็นการชนที่ไม่ได้หลบหลีกหรือเบรกแต่อย่างใด

    นอกจากนี้ กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี โดยสาเหตุสส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาดในการควบคุมรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะความผิดพลาดด้านการใช้เบรกเพื่อชะลอความเร็วหรือเพื่อหยุดรถ

    3. ด้านรูปแบบการเกิดอุบัติเหตุ

    รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุในรถจักรยานยนต์ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่การชนตัดหน้า โดยร้อยละ 80 เป็นการชนกับรถยนต์ที่เลี้ยวตัดหน้า ร้อยละ 66 เป็นการชนกับท้ายรถยนต์คันอื่น โดยอุบัติเหตุชนท้ายที่มีผู้เสียชีวิตมักเกิดในเวลากลางคืน และมีสัดส่วนของอุบัติเหตุที่ชนท้ายรถบรรทุกมากกว่าในเวลากลางวัน

    ในผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ใช้ความเร็วสูงกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อประสบอุบัติเหตุจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยถ้าเกิดเหตุในเวลากลางคืนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงมากกว่า

    นอกจากนี้ มากกว่าร้อยละ 40 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ โดยในจำนวนนี้ ผู้เสียชีวิตร้อยละ 62 ไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่ และในการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ศีรษะพบว่า ร้อยละ 66 เป็นผู้ขับขี่ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย

    4. ด้านสภาพถนนและสิ่งแวดล้อม

    สภาพถนนและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ โดยพบว่าอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงสูงมักเกิดในเขตชานเมืองและชนบท และส่วนใหญ่เป็นถนนสายรอง โดยร้อยละ 24 เกิดบนทางร่วมทางแยก ส่วนอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่เกิดบนถนนขนาด 4 ช่องจราจร มักเกิดขึ้นบนไหล่ทางซึ่งเป็นจุดที่ไม่ปลอดภัยหากใช้ในการสัญจร

  • ข้อเสนอแนะจากการวิจัย โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ
  • จากสาเหตุสำคัญที่พบ ทางศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยได้มีการเสนอ “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน” โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

    1. ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ยังขาดทักษะด้านการคาดการณ์อุบัติเหตุ อีกทั้งไม่สามารถตัดสินใจได้ทันที และทำการควบคุมรถเพื่อหลบหลีกการชนได้ทันการณ์ จึงจำเป็นต้องทบทวนหลักสูตรการอบรมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ให้มุ่งเน้นเพิ่มทักษะการคาดการณ์อุบัติเหตุ การตัดสินใจและการควบคุมรถเมื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยง 


    2. ควรทบทวนขั้นตอนในการออกใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยแยกการอบรมและข้อสอบระหว่างผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และผู้ขับรถยนต์ออกจากกัน และควรผ่านการอบรมขับขี่ที่ปลอดภัยในภาคทฤษฎีซึ่งมีเนื้อหาเน้นการอบรมทักษะด้านการคาดการณ์อุบัติเหตุ รวมถึงออกแบบขั้นตอนการสอบภาคปฏิบัติให้เสมือนกับการขับขี่บนท้องถนนจริงร่วมกับรถประเภทอื่นๆ  


    3. ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ทำผิดกฎจราจร เช่น การดัดแปลงรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่เกี่ยวข้องกับด้านความปลอดภัย การไม่สวมหมวกนิรภัย โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการป้องปรามและตรวจจับให้มากขึ้น นอกจากนี้ควรควบคุมการจำกัดความเร็วของยานยนต์ทุกประเภทอย่างเข้มงวด เพื่อความปลอดภัยของยานพาหนะทุกคันบนท้องถนน


    4. ควรผลักดันนโยบายการออกแบบถนนให้คำนึงถึงความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ โดยมุ่งเน้นการลดจุดตัดของกระแสจราจรระหว่างรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (เช่น จุดกลับรถ ทางแยกและทางเข้าออกต่างๆ) การลดความเร็วของกระแสจราจรในเขตชุมชน และการปรับปรุงระยะการมองเห็นตามทางแยก 


    5. ควรส่งเสริมและรณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์หมั่นตรวจสอบดูแลรักษาอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เช่นหลอดไฟหน้า ไฟท้าย ระบบเบรก และสภาพยาง


    6. ควรพิจารณาจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุแห่งชาติ เพื่อให้ได้ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุที่เพียงพอและในเชิงลึก ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุได้อย่างตรงจุดต่อไป

    นอกจากการแถลงผลดังกล่าว ภายในงานยังได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางและมุมมองการลดอุบัติเหตุในอนาคต” เพื่อให้ผลการวิจัยจากโครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุขยายประโยชน์ต่อสังคมต่อไป โดยมี 4 หน่วยงานสำคัญที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้ผลการวิจัยถูกนำไปต่อยอดให้เกิดเป็นรูปธรรม ให้เกียรติร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด สะท้อนมุมมองในด้านต่างๆ โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์  ผู้จัดการ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย, นายฐิติพัฒน์ ไทยจงรักษ์  ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก, ดร. นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), และ นายเลิศศักดิ์ นววิมาน  ประธานคณะทำงาน ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน  สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

    โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ photograph

    สุดท้ายแล้วทาง @GGezBikeCo ของเราขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนความปลอดภัยของท้องถนนเพื่อความสุขของทุกคน โปรดมีความระมัดระวังในการขับขี่รถทุกประเภท ปฏิบัติตามกฏและรักษาวินัยจราจร ให้เกียรติผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน การชะลอความเร็วหรือกรณีต้องการเลี้ยวซ้าย-ขวา ให้สังเกตุรถรอบข้าง และ ด้านหลังก่อน สุดท้ายอย่าลืมให้สัญญาณไฟเลี้ยวก่อนเลี้ยวรถด้วยเด้อ ขับขี่ปลอดภัยกันทุกคนนะครับ

    “ด้วยรักและหวังดี ♥”

    ข้อมูลจาก : www.autospinn.com , www.9carthai.com ,  www.khaosod.co.th , autovisionmag.com

    ติดตามข่าวจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ :  GGezBikeco

    Facebook FanPage : GGezBikeco

    เรียบเรียงโดย GGezBikeco

    Next Post

    จ่อเปิดตัว Yamaha MT-09 2021 ในงาน Motor Show 2021 นี้ !!

    Yamaha Riders Club เผยภาพโปรโมทการเปิดตั […]
    Yamaha MT-09 ปก